วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

พี่สอนน้อง ชมรมเยาวชนโคกพะยอมรักษ์สันติ

 27 มิ.ย. 2560 22:35 น.    เข้าชม 2359

      เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาในชุมชนบ้านเกิด ชุมชนโคกพะยอม ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส พวกเขามีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ได้พบเห็นและเรียนรู้สังคมภายนอก เมื่อกลับมายังชุมชนของตนเองด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป พวกเขามองเห็นทั้งคุณค่าที่ชุมชนของตนเองมีอยู่ ในอีกด้านหนึ่ง ยังมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด หรือปัญหาการศึกษา ซึ่งเด็กๆ รุ่นน้องในสังคมสมัยใหม่ขลุกอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ไม่สนใจการเรียน ส่วนหนึ่ง ยังมีปัญหาที่เป็นมานาน และส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษา คือ ส่วนใหญ่ฟังและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ไม่กล้าพูดภาษาไทย รวมไปถึงไม่กล้าแสดงออก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเรียนจบ ม.6 หรือบางส่วนก็แค่ ม.3 แล้ว จึงออกทำงานมากกว่าที่จะเรียนต่อ เพราะฐานะที่บ้านยากจน
      เมื่อคนหลายคนเล็งเห็นปัญหาร่วมกัน จึงเกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยของเยาวชนหนุ่มสาว 3 - 4 คน ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน มีแนวความคิดคล้ายกัน และชักชวนกันจัดตั้งชมรมของคนที่มีจิตอาสาเป็นหัวใจสำคัญ เกิดเป็น “ชมรมโคกพะยอมรักษ์สันติ” โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชน เริ่มต้นด้วยจำนวนสมาชิก 23 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความปรารถนาดีต่อชุมชน อยากให้ชุมชนบ้านเกิด มีความเข้มแข็งและทัดเทียมกับชุมชนภายนอก ที่พวกเขามีโอกาสไปพบเจอและนำมาแลกเปลี่ยน แต่ถึงแม้จะเข้าใจวิถีของชุมชนที่ตนเองเติบโตมา และมีความหวังดีที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่การทำงานกับคนในชุมชน ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมมากมาย เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ค่านิยมของชุมชน ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงความคิดคนนั้นไม่ง่ายเลย โชคดีที่ ตำบลโคกเคียน มีผู้นำที่มีแนวคิดที่เปิดกว้าง มองเห็นความได้เปรียบของกลุ่มเยาวชนที่น่าจะช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย คนในยุคเก่า กับเด็กที่กำลังเติบโตในยุคใหม่ ผู้นำชุมชน จึงมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาแนะนำให้กับเยาวชนในชมรมฯ
      ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำศาสนา คือ สี่เสาหลักที่ร่วมแรงร่วมใจในการดูแลว่าจะพัฒนาชุมชนในทิศทางไหน ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ การพัฒนาโครงสร้าง การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาเด็กและเยาวชน ดูแลความเป็นอยู่ตั้งแต่แรกเกิด ความเป็นอยู่ในชุมชนและการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นการดูแลคนที่จะกลายเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชนต่อไป  นอกจากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนที่ให้การดูแลสนับสนุน ชมรมยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอิสระหลายหน่วยงาน โดยเป้าหมายหลักขององค์กรอิสระเหล่านี้ จะเลือกทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน เพราะเชื่อมั่นในตัวเด็กและเยาวชนว่า มีพลังและศักยภาพที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตัวเองได้

กิจกรรมพี่สอนน้อง

      ชมรมเยาวชนโคกพะยอมรักษ์สันติ ริเริ่มจากการที่พี่ๆ เยาวชนเล็งเห็นปัญหาในชนบท พ่อแม่ต้องทำงานหนักไม่มีเวลาดูแลลูก แต่เด็กในเมืองนั้น ในวันหยุดยังมีโอกาสไปเรียนพิเศษ น้องๆ บางคนอยู่ ป.3 ยังเขียนชื่อตัวเองไม่ได้ ไม่กล้าแสดงออก และขาดโอกาสในการศึกษาต่อ จึงจัดโครงการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการเเสวงหาความรู้ด้วยตนเอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า กิจกรรมพี่สอนน้องในชุมชน โดยพี่ๆ เยาวชนจะจัดส่งเสริมศักยภาพในการรู้จักและเข้าใจตัวเอง ส่งเสริมให้กล้าแสดงออก ตลอดไปจนถึงการรู้จักและเข้าใจชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมสอนพิเศษน้องๆ ด้านวิชาการ เช่น สอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ โดยจะมีการเรียนการสอนในวันอาทิตย์ หลังจากที่น้องๆ เสร็จจากการเรียนศาสนาแล้ว  

      เพื่อสืบทอดหัวใจแห่งจิตอาสา พี่ๆ เยาวชน จึงพาน้องๆ ทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน และเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กิจกรรมหมู่บ้านสะอาดด้วยมือเรา โครงการมอบรอยยิ้มให้ชุมชน เเจกข้าวสารอาหารเเห้งกับเด็กกำพร้า เเละคนยากจนในหมู่บ้าน ร่วมกับทีมงานผู้ใหญ่บ้านเเละกรรมการหมู่บ้าน จัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเยาวชน กิจกรรมงานวันเด็ก เป็นต้น  

      โดยกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขานำมาใช้ส่วนหนึ่งได้จากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า กิจกรรมที่พวกเขาทำนั้น สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่เยาวชนเหล่านี้ไม่เคยย่อท้อ กลับแสวงหาความรู้เพิ่มเติม มีการรวมทุนกันไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างนอก ศึกษาวิธีการทำงานของกลุ่มอื่น ทั้งในและนอกจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระ ที่คอยแนะนำน้องๆ ช่วยวางเป้าหมายและดึงศักยภาพของน้องๆ มาใช้ให้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบทบาทและหน้าที่ของตัวเขาเอง ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กเเละชุมชน เพื่อสนับสนุนเเละส่งเสริมกระบวนการสันติวิธี ในจังหวัดชายเเดนใต้ โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, เครือข่ายเด็กเปลี่ยนได้ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) โดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ฯลฯ  

      นอกจากนี้ ทางชมรมฯ ยังมีส่วนในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การเข้าร่วมเวทีการมีส่วนร่วมของเด็กเเละชุมชนเพื่อสนับสนุนเเละส่งเสริมกระบวนการสันติวิธีในจังหวัดชายเเดนใต้ โดยองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save The Children), โครงการเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส กับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ โดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส เป็นต้น
      ในขณะที่ผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เยาวชนยังมีเวลาว่าง ในขณะที่ช่องว่างระหว่างเยาวชนกับเด็กรุ่นใกล้กัน ย่อมมีช่องว่างระหว่างวัยน้อยกว่าผู้ใหญ่กับเด็ก และมีความเท่าทันสื่อสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถดูแลน้องๆ ของตัวเองได้ แม้ยังอ่อนด้านการบริหารจัดการ แต่ก็ยังมีความพยายาม และใช้ความมุ่งมั่นที่มีอยู่เข้าหาผู้ใหญ่ และใฝ่เรียนรู้ รู้จักขอความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ได้ ทั้งพยายามเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ให้เข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งโดยส่วนมากมักจะได้รับความเมตตาเอ็นดูกลับมา จนกระทั่งภารกิจของชุมชนประสบความสำเร็จ โดยจะเห็นได้จากการได้รับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลต้นแบบเมื่อปี 2559 ที่ได้รับจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นและความเป็นจิตอาสาที่สมาชิกชมรมทุกคน มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อชุมชน ด้วยความหวังว่า สิ่งที่พวกเขามุ่งมั่นลงมือทำ จะเป็นพื้นฐานให้กับเด็กรุ่นเล็กๆ ต่อไป ที่จะกลับมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น อย่างที่พวกเขาทำไว้เช่นเดียวกัน

ความคิดเห็น