วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ผลการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ดร. มาสลีย์ บิน มาลิค (Dr.Maszlee bin Malik) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และคู่สมรสในฐานะแขกของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 25 พ.ค. 2566 19:10 น.    เข้าชม 312

          เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ดร.มาสลีย์ บิน มาลิค (Dr. Maszlee bin Malik) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเลเซีย พร้อมคู่สมรส ได้ให้เกียรติเดินทางเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

          ๑. การเข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องรับรองสิทธิ เศวตศิลา โดยมีผู้บริหารของ สมช. เข้าร่วมด้วย ซึ่งได้มีการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างรัฐบาลไทย – มาเลเซีย โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาร่วมกัน พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์และมุมมองต่อประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่า “การศึกษา” ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างสันติสุข และการยกระดับการพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งสร้างให้ประชาชนมีความพร้อมในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizen) ที่มีทักษะในด้านเทคโนโลยีและรู้เท่าทันกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ ดร.มาสลีย์ฯ ได้ให้คำแนะนำว่าควรจัดทำพิมพ์เขียว ทางด้านการศึกษา (Southern Border rovinces’ Education Blueprint) ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

          ๒. การประชุมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการยกระดับการศึกษาของมาเลเซียให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ไปจนถึงขั้นอุดมศึกษา รวมทั้งให้ความสำคัญต่อมาตรฐานการสอนในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐ โรงเรียนอาชีวะ และสถาบันศึกษาปอเนาะในมาเลซีย นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประเด็นการเตรียมความพร้อมประชาชนให้รู้เท่าทันกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งท่าน ดร.มาสลีย์ฯ ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ของมาเลเซียในการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการศึกษา โดยเฉพาะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพและพรสวรรค์ของผู้เรียนรายบุคคลเพื่อกำหนดหลักสูตรที่ตรงกับผู้เรียน

          ๓. การเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “Malaysia’s ducation Policy and Strategy: Lesson Learned and Recommendations for developing inclusive and balance Education System in the Southern Border Provinces” เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.มาสลีย์ฯ เป็นวิทยากร และนายดนัย มู่สา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการเสวนาฯ ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องนโยบายการศึกษาของมาเลเซีย โดยเฉพาะแนวคิดการศึกษาแบบ STREAM (Science Technology Reading Engineering Art and Match) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับทั้งด้านสติปัญญา เทคโนโลยี ควบคู่กับการทักษะด้านการอ่านและศิลปะ เพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์และสุนทรียะในจิตวิญญาณที่จะเป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการเสริมสร้างทักษะด้านวิชาการและวิชาชีพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง ได้เน้นให้เห็นความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centric Education) และการศึกษานอกห้องเรียน ผ่านแหล่งข้อมูลและสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายประกิจ ประจนปัจจนึก อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ/ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อบศ.จชต.) กล่าวปิดการเสวนา

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม (กชต.)
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ความคิดเห็น