วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2567

"ครูของพระราชา" น้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการศึกษาชายแดนใต้ที่ยั่งยืน

 14 มี.ค. 2562 22:24 น.    เข้าชม 3517

      หนังสั้นถือเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นได้ไม่ยากนัก ใช้เทคนิควิธี และทักษะความยืดหยุ่นต่อการที่กลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนาจะนำมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้ กลุ่มเยาวชนหนังสั้นครูของพระราชา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็เป็นอีกกลุ่มสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งที่ใช้หนังสั้น ในชื่อเรื่อง “ครูของพระราชา” เพื่อสื่อสารให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้สถานการณ์ และอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นตัวกำหนด และชี้วัดต่างๆ รวมไปถึงแนวทางในการพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครู โดยเน้นถึงการเรียนรู้ และการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา ครูของพระราชา ด้วยศาสตร์พระราชา       โครงการประกวดหนังสั้น "ศาสตร์พระราชากับการศึกษาชายแดนใต้ที่ยั่งยืน" จัดขึ้นโดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ - ศปบ.จชต. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงงานหนักเพื่อ ปวงชนชาวไทยตลอดมา และส่งเสริมการนำศาสตร์พระราชามาใช้กับการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ โดยการถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้ให้แก่ราษฎร และผืนแผ่นดินไทยในรูปแบบของหนังสั้นเข้ามาร่วมประกวด

      กลุ่มเยาวชนหนังสั้น ครูของพระราชา คือกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากหลักสูตรผลิตครู สาขาภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ซึ่งศาสตร์ของเทคโนโลยีการศึกษา จะเป็นศาสตร์ที่บูรณาการหลายด้านเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องศาสตร์การเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนจะผสมผสานกันไประหว่างการพัฒนาวิชาชีพครูภาษาอังกฤษ พร้อมกับพัฒนาให้นักศึกษาให้เป็นครูภาษาอังกฤษที่มีความสามารถในการออกแบบ และผลิตสื่อการสอน หรือนวัตกรรมการศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอนได้ด้วย สื่อการสอนนั้นมีหลายประเภท ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และวิทยุ วิชาเรียนในสาขาจะแบ่งสัดส่วนเท่าๆ กันในการสอนภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการศึกษา ที่ได้ฝึกปฏิบัติจริงทั้งสองด้าน       ในขณะที่มีกิจกรรมโครงการดังกล่าวข้างต้น น้องๆ กลุ่มเยาวชนหนังสั้นครูของพระราชา ยังเป็นนักศึกษาในชั้นปีที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้เรียนวิชาการผลิตรายการโทรทัศน์ แต่ด้วยความสนใจ และความตั้งใจเป็นพิเศษ จึงมาคลุกคลี และทำงานกับรุ่นพี่ และด้วยความสนใจจะส่งหนังสั้นเข้าประกวด จึงได้เกิดการรวมตัวกันในกลุ่มคนที่มีความสนใจ ลงมือเขียนบท และนำมาปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงบท การถ่ายทำและการตัดต่อ

      การที่น้องๆ เยาวชนนักศึกษากลุ่มนี้ได้เลือกทำหนังสั้นเรื่อง ครูของพระราชา เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้กับตัวพวกเขาเองซึ่งเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ครูถือเป็นอาชีพที่สร้างคนให้มีความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ในฐานะนักศึกษาวิชาชีพครู จึงได้น้อมนำหลักคำสอนเกี่ยวกับครูของพระองค์ท่านมาสร้างเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา

      เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดสงขลา เด็กหนุ่มคนนี้มีความหลังที่ต้องสูญเสียแม่จากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่มีความฝันที่จะเป็นครูสอนเด็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เหมือนอย่างที่แม่ของเขาเคยเป็น เขาต้องขัดแย้งกับพ่อของตนเองที่เป็นห่วงในความปลอดภัยของลูก จึงต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อให้คนในครอบครัวยอมรับในความมุ่งมั่น โดยการน้อมนำเอาหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเรื่องความเป็นครูมาใช้กับตัวเขาเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง       การที่นักศึกษาได้ส่งหนังสั้นเข้าประกวด ถือเป็นประสบการณ์ตรง ที่ทำให้พวกเขาได้ฝึกการถ่ายทอด ที่ไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาวิชาเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดทัศนคติ เรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งทางสาขาภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง มีการจัดสรรหาอุปกรณ์ต่างๆ เตรียมพร้อมให้นักศึกษาสามารถยืมไปใช้ทั้งในวิชาเรียน และนอกเหนือจากวิชาการเรียนได้ และยังสนับสนุนคำแนะนำในเรื่องการปรับปรุงบทให้มีความเหมาะสม ไม่ให้กระทบในจุดที่อ่อนไหวจนเกินไป และให้คำแนะนำเรื่องมุมกล้อง เทคนิคการถ่ายทำ ในด้านการทำงานการผลิตหนังสั้นของน้องๆ กลุ่มนี้ มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ มีผู้เขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์ ทีมงานถ่ายทำ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ หนังสั้น “ครูของพระราชา” จึงประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลที่ 2 ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ในการประกวด "“ศาสตร์พระราชากับการศึกษาชายแดนใต้ที่ยั่งยืน"

      นักศึกษากลุ่มเยาวชนหนังสั้น ครูของพระราชา ได้มีการพัฒนาต่อยอดการทำงานผลิตสื่อต่างๆ จนได้รับความไว้วางใจจากองค์กรต่างๆ ให้มีการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ พวกเขาได้ใช้ประสบการณ์ต่างๆ มาสื่อสารเรื่องราว อัตลักษณ์ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกัน และกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้ผลิตสื่อต่างๆ ขึ้นอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังสามารถสร้างบุคคลที่จะจบไปเป็นครูที่ดี และมีคุณภาพ เพื่อกลับมาพัฒนา และเป็นแรงผลักดันให้กับนักผลิตสื่อรุ่นน้องให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้       กลุ่มนักศึกษาวิชาชีพครูถือเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มเยาวชนอื่นๆ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะนำหลักคำสอนของครูมาพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ชุมชนเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชน ซึ่งถ้านักศึกษาเหล่านี้มีความเข้มแข็งทั้งทางร่างกาย และจิตใจ พวกเขาย่อมสามารถกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง รวมทั้งสถานศึกษาที่พวกเขาเล่าเรียนมาตั้งแต่เด็กได้ต่อไป

ความคิดเห็น