วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

จากความไว้วางใจแห่งพหุวัฒนธรรม สู่การร่วมใจพัฒนาที่ยั่งยืน

 8 มี.ค. 2565 16:22 น.    เข้าชม 2172

          สังคมหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ อาทิเช่น ครอบครัว เป็นต้น หรือ สังคมที่มีขนาดใหญ่กว่าครอบครัวก็ตาม หากในสังคมนั้นเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นภายในสังคมนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ความหวาดระแวง เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นมา สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่ไร้ความสุข

          การที่จะเปลี่ยนสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ปราศจากซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระหว่างผู้คนในสังคมนั้น ให้กลับมาสู่การเป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความไว้วางใจ และคืนกลับมามีความสุข สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ก็คือ การใช้วิธีการใด ๆ ก็ตามมาช่วยในการสถาปนา หรือ เรียกคืนกลับ “ความไว้วางใจ” ที่เลือนหายไปให้กลับคืนมา และหยั่งรากลึก “ความไว้วางใจ” และใช้ “ความไว้วางใจ” นี้เป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างความเจริญ และความสันติสุขอย่างยั่งยืนให้กับสังคมนั้นต่อไป

          ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีสังคม หรือชุมชนตัวอย่าง อีกชุมชนหนึ่งที่สามารถเรียกคืน “ความไว้วางใจ” ให้กลับมาสู่ชุมชน จนได้รับการขนานนามจากสถาบันพระปกเกล้าว่า “ชุมชนแห่งความเป็นเลิศในการเสริมสร้างสันติสุข” ชุมชนตัวอย่างนี้ ก็คือ ชุมชนในตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

การก่อตัวของความไม่ไว้วางใจ

          หลังจากการปะทุขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2547 ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมามากมาย และผลกระทบเชิงลบนี้ ได้ขยายผลเป็นออกวงกว้างไปสู่พื้นที่ในชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบคือ ชุมชนในตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา

          สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ได้นำไปสู่ความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องประชาชนต่างศาสนาที่อยู่ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านไทยพุทธหมู่บ้านหนึ่ง ในตำบลท่าสาป ได้สร้างรั้วกั้นบุคคลภายนอก และมีการจัดเวรยามเฝ้าทางเข้า-ออกอย่างเข้มงวดในเวลาค่ำคืน

          นายมะสดี หะยีปี นายกเทศมนตรี ตำบลท่าสาป ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ในช่วงนั้นว่า "พอตกค่ำ แต่ละบ้านก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครกล้าออกไปพบปะผู้คน มีแต่ความหวาดระแวง ความเงียบเชียบ อึมครึม ครอบคลุม ไปทั่วทั้งตำบล ต่างกับก่อนหน้านั้น ที่ผู้คนจะไปมาหาสู่ พูดคุยกันเสมือนเป็นญาติสนิทตลอดมา"

          คำถามที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็คือ “ทำอย่างไร ที่จะฟื้นคืน หรือ เรียกคืน ความไว้วางใจที่หดหายไป ให้กลับคืนมาสู่สภาวะปกติดังเดิม”

ปฏิบัติการเรียกคืน ความไว้วางใจ

จุดเริ่มต้นในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็คือ “ผู้นำ” และ “วิธีการในการแก้ไขปัญหาของผู้นำ”

          นายมะสดี ในฐานะนายกเทศมนตรี ตำบลท่าสาป ได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้วิธีการขั้นพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือ ใช้การพูดคุยหารือ เพื่อลดความหวาดระแวง/ความไม่ไว้วางใจ เมื่อความหวาดระแวง/ความไม่ไว้วางใจลดลง สิ่งที่ตามมาก็คือ “ความเชื่อใจ/ความไว้วางใจ” ของผู้คนในชุมชน ซึ่งต่อมากระบวนการนี้ ถูกขนานนามว่า “ท่าสาปโมเดล”

          ท่าสาปโมเดลเริ่มต้นจากการเชิญชวนคนสูงอายุมากินกาแฟยามเช้าอย่างเป็นกันเอง กินกันแบบบ้าน ๆ อย่างที่เคยทำกันมา โดยจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน แล้วขยายผลไปตามร้านกาแฟในหมู่บ้านอื่น ๆ

          เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ความหวาดระแวงเริ่มลดลงในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะต่อยอด/ขยายผลด้วยการจัดกิจกรรมในช่วงค่ำ โดยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่จัดกิจกรรม และกิจกรรมที่จัดจะเป็นกิจกรรมเชิงพหุวัฒนธรรม อาทิเช่น ลิเกฮูลู หนังตะลุงสองภาษา (ไทย/ยาวี) จากกิจกรรมยามค่ำ ก็ต่อยอดไปเป็นกิจกรรมประจำปี และผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเชิงพหุวัฒนธรรมนี้ ส่งผลให้ระดับความหวาดระแวงลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

          เมื่อสามารถเรียกคืนความไว้วางใจระหว่างผู้คนในชุมชนทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธกลับคืนมาได้แล้ว ต่อไป  ก็จะเป็นการต่อยอดในมิติอื่น ๆ เช่น มิติด้านการพัฒนาชุมชนด้วยการเชื่อมโยงในลักษณะไตรภาคีกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้คนและผู้อาวุโสในชุมชน ทำบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ ทำให้เด็ก หรือเยาวชนรุ่นหลังเห็นภาพของความเชื่อใจ/ความไว้วางใจ ของระดับชุมชนสู่ระดับจังหวัดทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขตลอดไป

จากความไว้วางใจ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม

                    ตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม เนื่องจากในอดีตกว่าสองร้อยปีที่แล้ว พื้นที่นี้เป็นจุดบรรจบทางการค้าของโลกตะวันออก และโลกตะวันตก กล่าวคือ พ่อค้า นักเดินทาง นักผจญภัย จากทั้งสองฝั่งโลก ได้เดินทางมาสู่พื้นที่นี้ ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมทั้งวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ศิลปะ และอื่น ๆ อีกมากมาย

          ดังนั้นเมื่อความไว้วางใจที่เลือนหาย ถูกฟื้นคืนกลับมาผ่าน “ท่าสาปโมเดล” การพัฒนาโดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ก็บังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมไตรภาคีในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การสร้างต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ของชุมชน การสร้างต้นแบบการสอนศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง, ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ท่าสาป โรงเรียนผู้สูงอายุ และกลุ่มสุขภาพต่าง ๆ การเกิดขึ้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เกื้อกูลต่อเศรษฐกิจฐานราก อาทิเช่น กลุ่มกะลามะพร้าวแปรรูป กลุ่มอาชีพนมแพะ กลุ่มพัฒนาต้นแบบแก๊สชีวภาพ และตลาดนัดภูมิปัญญา สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

          การพัฒนาใด ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมใด ๆ ก็ตาม จะต้องเริ่มต้นจาก “ความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันของผู้คนในสังคมนั้น ความไว้วางใจที่แน่นเฟ้นจะนำไปสู่ “การร่วมใจ” ในการนำต้นทุนทางสังคมที่สังคมนั้นมีอยู่มาพัฒนาให้เป็นประโยชน์  ต่อการสร้างความสุขแก่ผู้คนในสังคมนั้น ซึ่งตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ยืนยันถึงประสิทธิผลนี้ ก็คือ “ท่าสาปโมเดล” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้กระทั่งในชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ความคิดเห็น