วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เป็นประธานปิดกิจกรรมแนะนำหนังสือนิทานรูเมาะกีตอ ภายใต้โครงการรักการอ่าน ผ่านนิทานตำนานชุมชนสู่ผู้เรียนในศูนย์ตาดีกา

 20 ม.ค. 2563 09:21 น.    เข้าชม 1546

          เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันเอก อนุพงษ์ มีสง่า รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมแนะนำหนังสือนิทานรูเมาะกีตอ ภายใต้โครงการรักการอ่านผ่านนิทานตำนานชุมชนสู่ผู้เรียนในศูนย์ตาดีกา เพื่อส่งเสริมการอ่านของนักเรียนตาดีกา โดยมี ประธานชมรมตาดีกา ตำบลป่าไร่ ครูตาดีกา และนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน

          พันเอก อนุพงษ์ มีสง่า รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอขอบคุณคณะทำงานทุกท่านที่มีความตั้งใจในการขับเคลื่อนเยาวชนในพื้นที่ให้รักการอ่าน และมีความพยายามในการค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงดำเนินการจัดทำหนังสือนิทาน จนประสบความสำเร็จ หนังสือนิทานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้เป็นสื่อกลาง ช่วยให้เยาวชนในพื้นที่รักการอ่าน กระตุ้นการเรียนรู้เรื่องศาสนาและสายสามัญ เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ขอให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมต่างๆ ในตัวเยาวชน ช่วยกันทำให้เขาเป็นคนดี รู้เท่าทันคนอื่น เพื่อที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุข

          สำหรับกิจกรรมแนะนำหนังสือนิทานรูเมาะกีตอ ภายใต้โครงการรักการอ่านผ่านนิทานตำนานชุมชนสู่ผู้เรียนในศูนย์ตาดีกา เพื่อให้นักเรียนและครูตาดีกาได้เรียนรู้เรื่องเล่าของชุมชนตนเองผ่านผู้อาวุโสในชุมชน กิจกรรมในงานมีการเปิดตัวหนังสือนิทานตำนานชุมชน หรือเรียกภาษาท้องถิ่นว่านิทานรูเมาะกีตอ เรื่อง “ช้างกับสายน้ำ” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน และส่งเสริมการอ่านออก เขียนได้ ของนักเรียนตาดีกา และช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่า และภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง โดยมีครูตาดีกาเป็นผู้สืบค้นเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสในชุมชน และวาดภาพประกอบด้วยตนเอง การแข่งขันแต่งนิทานจากนักเรียนศูนย์ตาดีกาตำบลป่าไร่ จำนวน 7 ศูนย์, นิทรรศการหนังสือทำมือจากนิทานรูเมาะกีตอเรื่องต่างๆ, เวทีเสวนา “นิทานรูเมาะกีตอสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร”การละเล่นโบราณ, กริชและการแต่งกายมลายู

ความคิดเห็น