วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2567

กองทัพบก ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปิดกิจกรรมค่ายเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม จังหวัดนราธิวาส สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่

 5 มี.ค. 2563 09:57 น.    เข้าชม 1129

          เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์การศึกษาพิกุลทอง ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พลตรี พิเศษ ศิริเกษม รองหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เป็นประธานพิธีปิด พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการค่ายเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม รุ่นที่ 2 ประจำปี 2563 ซึ่งฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2 - 4 มีนาคม 2563 เพื่อขยายผลตามโครงการรู้รักสามัคคี เพราะเราคือพี่น้องกัน โดยการสร้างเครือข่ายจิตอาสาสภาตำบลของจังหวัดนราธิวาส และพัฒนาสัมพันธ์บุคลากรของเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด และความมั่นคงในพื้นที่ โดยมี พันโท สุบิน ชะรอยรัมย์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส, นาย วาริน นาราวิทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และผู้เข้าร่วมค่ายเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม จาก 30 ตำบลนำร่องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 210 คนเข้าร่วมกิจกรรม

          พลตรีพิเศษ ศิริเกษม รองหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้กล่าวชื่นชมผู้เข้าร่วมโครงการค่ายเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ในความตั้งใจที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งทุกคนได้แสดงออกถึงความมีจิตอาสาร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ตามแนวทางทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคง ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการตำบลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในตำบลของท่านเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดเป็นพลังเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคมในระดับตำบล โดยการร่วมบูรณาการระดมความคิดในการริเริ่มวางแผนปฏิบัติการป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้ และรับทราบถึงนโยบายแผนงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธีโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมของพลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และสามารถนำความรู้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน

          ทั้งนี้ โครงการค่ายเครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ถือเป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับรากฐานได้อย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากการให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปณิธานที่มีความตั้งใจจะร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

ความคิดเห็น