วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

ศอ.บต. ยืนยัน ไม่มีการเช่าเหมาลำไปรับนักศึกษากลับประเทศไทย

 26 มี.ค. 2563 13:32 น.    เข้าชม 588

          วันนี้ (26 มี.ค.63) เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID -19 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงชี้แจง จากที่มีกรณีผู้ปกครองในพื้นที่ จชต. สอบถามถึงการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้กว่า 27 ประเทศทั่วโลกว่า การให้ความช่วยเหลือและดูแลนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศโลกมุสลิมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค COVID -19 อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย นั้น ศอ.บต.ได้ทำหน้าที่ในการประสานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ รวมทั้งสมาคมนักเรียนนักศึกษาไทยในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเตรียมการอำนวยความสะดวกเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายและนักศึกษาไทย สามารถเดินทางกลับมาได้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานทูตอินโดนีเซีย นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัคราชฑูต ณ.กรุงจากาตาร์ ได้ดูแลอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการจัดสรรหน้ากากากากอนามัย อาหารแห้ง นอกจากนี้ยังดูแลครอบคลุมยังประเทศต่างๆกว่า 27 ประเทศ ซึ่งมีนักศึกษาไทยพำนักอยู่ 11,069 คน สำหรับ ศอ.บต. ทำหน้าที่ประสานทุกหน่วยงานเพื่อประสานข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต.ยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการเช่าเหมาลำสายการบินเพื่อไปรับตัวนักศึกษากลับมาในช่วงนี้ตามที่มีข่าวลือ

          ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลกระทบโรค COVID -19 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพการสนับสนุน เติมเต็มการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข และจังหวัด โดยจัดทำแผนการรับมือในภาวะวิกฤติ และแผนต่อเนื่อง เช่นการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น สนับสนุนการทำงานของจังหวัด ส่วนแผนการต่อเนื่องในระยะยาวนั้น ด้านเศรษฐกิจ จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในลักษณะตลาดประชารัฐจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพในราคาที่เหมาะสม เตรียมพร้อมกระจายสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาลและการให้ความช่วยเหลือด้านสังคม โดยการจัดตั้งโรงครัว เคลื่อนที่โดยใช้วัด มัสยิดเป็นศูนย์กลาง อย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง ด้านการศึกษาในพื้นที่ จะมีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ สื่อสารให้ครอบคลุมหมู่บ้านที่มีนักศึกษา กลับไปสู่บ้านแต่ยังมีกิจกรรม Online ที่จะต้องดำเนินการ เช่นการเรียนการสอน Online การสอบ Online และด้านการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ นั้นได้ใช้หลักการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี และให้ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชี้แจงอีกทางหนึ่ง จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งต่างๆของผู้ว่าราชการจังหวัด ผอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งได้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามประกาศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา

ความคิดเห็น