วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

เยาวชน โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 36 ร่วมกิจกรรมศึกษา เรียนรู้ สังคมพหุวัฒนธรรมพระนครศรีอยุธยา ด้าน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หวัง​ ให้เยาวชนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อนำปรับใช้ในพื้นที่ สร้างความสันติสุขอย่างยั่งยืน

 27 ต.ค. 2562 10:21 น.    เข้าชม 1282

          วันนี้ (27 ตุลาคม 2562) ที่ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ เป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรม ศึกษา เรียนรู้ สังคมพหุวัฒนธรรมพระนครศรีอยุธยา โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 36 โดยมี นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการดำเนินการโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเยาวชนโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ จำนวน 320 คน เข้าร่วม

          พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ กล่าวว่า เยาวชนโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 36 ได้มีการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดขึ้น ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นจุดกำเนิดของสังคมพหุวัฒนธรรม มีพี่น้องประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และต่างศาสนา อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน อยากให้ทุกคนรักษาความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ของเราไว้ และนำไปปรับใช้ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือต่างศาสนา จะแสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคีของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ตามที่เราได้ตั้งปฏิญาณตนว่า เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน

          ทั้งนี้ภายในกิจกรรมเยาวชนได้มีการเดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ เยี่ยมชม กุโบร์ท่านเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) วัดนักบุญยอแซฟ หรือโบสถ์เซนต์ยอแซฟ วัดไชยวัฒนนาราม พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นต้น รวมถึงได้มีการใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ และเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายครอบครัวอันนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคม รวมทั้ง มีโอกาสเข้ามาศึกษาสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประกาศขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม อีกด้วย

ความคิดเห็น