วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2567

กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลงร่วม 3 ฝ่าย เน้นควบคุมพื้นที่ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid – 19

 3 ส.ค. 2564 16:47 น.    เข้าชม 493

          วันนี้ ( 3 สิงหาคม 2564 ) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมดาหลา กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันเอกเกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าพร้อมด้วย พันตำรวจเอกวศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงผลการปฏิบัติงานในห้วงเดือนที่ผ่านมา

          พันเอกเกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้ทำการสืบทราบ รวมทั้งได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวภาคประชาชนว่าพบบุคคลต้องสงสัยมาพักหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ บ้านชะเมาสามต้น ตำบลเตราะบอน และ บ้านบือแนดาแล ตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีจึงได้ดำเนินตามขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักภายใต้การมีส่วนร่วมและรับรู้ของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในพื้นที่ในการช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมแต่กลุ่มคนร้ายไม่ยินยอมกลับใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ขว้างใส่เพื่อเปิดทางหนี เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องตอบโต้ป้องกันตัว ภายหลังการปฏิบัติ พบผู้เสียชีวิต 2 รายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามะอูฮัดซูบูลูซซาลาม ประกอบด้วย นายคูไมดี รีจิ และ นายอัมรี มะมิง ทั้ง 2 ราย เป็นแกนนำปฏิบัติการคนสำคัญ มีหมายจับ ป.วิอาญา รวมกัน 5 หมาย โดยนายคูไมดี มีประวัติปล้นร้านทองสุธาดาที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 และนายอัมรี เป็นผู้ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ส่วนในพื้นที่ ตำบลกะดุนง ผลการปฏิบัติ มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ นายอัซมาน สะมะแอ และนายสูไลมาน ดอเลาะ ทั้ง 2 ราย เป็นแกนนำปฏิบัติการคนสำคัญ มีหมายจับป.วิอาญา รวมกัน 5 หมาย

          ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมายังคงมีความพยายามก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่มุ่งกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.05 น. ได้เกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ใส่ด่านตรวจโควิด หน้าองค์การบริหารตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส แต่โชคดีกำลังพลและเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายรวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ไม่ได้รับบาดเจ็บ และ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.50 น. กลุ่มคนร้ายได้ลอบวางระเบิดรถยนต์ของนายอำเภอสุคิริน ริมถนนหมายเลข 4058 บ้านต้นตาล หมู่ที่ 2 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ขณะนายอำเภอสุคิริน พร้อม เจ้าหน้าที่ อส. รวม 5 นาย เดินทางด้วยรถยนต์กระบะหุ้มเกราะ กลับจากพื้นที่ อำเภอรือเสาะ เป็นเหตุให้ อส.มะเซาตี นิมุ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย บริเวณนิ้วชี้และนิ้วกลางมือซ้าย ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและแนวร่วมขบวนการไม่ได้สนใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือประชาชนในวิกฤติสถานการณ์โควิด 19 แต่กลับซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้นโดยไม่คำนึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้

          ในส่วนด้านการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมและการช่วยเหลือประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้บังคับหน่วย ในระดับต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม รวมทั้งเวชภัณฑ์ป้องกันเชื้อไวรัส และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดรถครัวสนามแจกจ่ายข้าวกล่องให้พี่น้องประชาชนรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยรับซื้อทุเรียนบ้าน จำนวน 5 ตัน, เงาะ 10 ตัน, มังคุด 20 ตัน ผลผลิตที่รับซื้อดังกล่าวได้นำไปแจกจ่ายให้แก่ทหารกองประจำการ รวมทั้งกำลังพลและครอบครัวได้บริโภค

          ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะได้หมุนเวียนกันทุกหน่วยเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรจนกว่าสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดจะคลี่คลายรวมทั้งยังได้ส่งมอบอาหารกล่องจากโรงครัวพระราชทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 1 แสนกล่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด 19

          สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในหน่วยทหารเพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 4 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 925 เตียง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 หมุนเวียนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามในหน่วยทหารแล้ว จำนวนกว่า 3,000 ราย

          ทั้งนี้ตามที่มีประกาศ ศบค. ฉบับที่ 28 ให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเนื่องจากอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสอดรับกับประกาศดังกล่าว แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยในพื้นที่ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนตามแนวชายแดน เพื่อสกัดกั้นผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย ที่อาจนำพาเชื้อไวรัสเข้ามาแพร่กระจายในชุมชนและหมู่บ้าน รวมทั้งให้ปรับด่านตรวจ จุดตรวจ เป็นจุดคัดกรองโควิด อีกทั้งเน้นย้ำกำลังพลให้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันตนเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากการติดเชื้อโควิด 19

          ขณะที่ นายธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากมาตรการที่ ศบค.ได้ประกาศขยายระยะเวลาพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนั้น ก็เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด ซึ่งในครั้งนี้มีการขยายจาก 13 จังหวัด ขยายเพิ่มไปอีก 16 จังหวัด รวมแล้วในประกาศครั้งนี้มี 29 จังหวัด ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. วางไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งในส่วนของพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มตั้งแต่ช่วงแรก และยังคงถือเป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่ต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันสูงสุดต่อไปอีกนั้น เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้ทุกคนอดทน และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็ฝากความห่วงใยและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ต้องถูกปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการหยุดการแพร่เชื้อ เมื่อประชาชนหยุดการเคลื่อนไหว ทำให้เจ้าหน้าที่มีเหตุจำเป็นที่ต้องประกาศปิดพื้นที่ โดย ศอ.บต.ได้กำชับและเน้นย้ำให้ข้าราชการ และบุคลากรปฏิบัติงานที่บ้าน ตามมาตรการ WFH ให้มากที่สุดเพื่อลดการแพร่เชื้อในสานที่ราชการ

          ในส่วนของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้น ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเรียนในต่างประเทศ ล่าสุด ศอ.บต. ได้เตรียมอำนวยความสะดวกนักศึกษาไทยในต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ซูดาน มาเลเซีย ที่จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเนื่องจากนักศึกษาบางส่วนจะสำเร็จการศึกษาในเดือนกรกฎาคมและตรวจลงตรา (Visa) จะหมดอายุในเดือนสิงหาคม รวมทั้งต้องปฎิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่กำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องเข้ารับการกักกันโรคอย่างน้อย 14 วัน ในสถานที่กักกันโรคทางเลือก โดยผู้ที่เข้ารับการกักกันโรคจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม นักศึกษาไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ ศอ.บต. จึงจะทำการประสานกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมสถานที่กักกันโรคและบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาต่อไป

          ทั้งนี้ นายธีรพงษ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้กล่าวถึงมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2570 ซึ่งถือว่าเป็นการขยายระยะเวลาในการดำเนินงานออกอีก 6 ปี ว่า โครงการดังกล่าวนั้นจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ จชต. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง สามารถที่จะลดเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ โดยที่ผ่านมาประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ทั้งที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และมีที่ดินแต่ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ ทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้ประชาชนไม่พอใจการดำเนินการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การเข้ามาดำเนินการต่อเนื่องในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีที่ดินทำกินของตนเองที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยในการดำเนินการตาม มติครั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการในปี 2564-2570 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ศอ.บต. ตั้งเป้าออกโฉนดที่ดินทำกินในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาให้ได้ 90,000 แปลง เฉลี่ยปีละ 15,000 แปลง จากการดำเนินการก่อนหน้านี้ ที่มีการประสานกับกรมที่ดินร่วมจัดทำโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำรวจ เพื่อแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 7 ปี นั้นสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ผ่านมา สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม สามารถออกโฉดที่ดินเป็นจำนวน 92,391 แปลง รวมเนื้อที่ 161,619 ไร่ โดยมีประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ์ รวม 60,392 ราย

          ทางด้าน พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยถึงสถิติการเกิดเหตุเดือนกรกฎาคม 2564 เกิดเหตุก่อความไม่สงบ 8 เหตุ เหตุปะทะ 1 เหตุ มีการออกหมายจับ ป.วิอาญา คดีความมั่นคง จำนวน 13 หมาย จับกุม 3 หมาย มีการออกหมายจับ ตาม พ.ร.ก.ฯ จำนวน 1 หมาย และ จับกุม 1 หมาย เหตุขว้างระเบิดไปป์บอมใส่ฐานปฏิบัติการ หมวดเฉพาะกิจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (มว.ฉก.นปพ.)ในพื้นที่ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาส อนุมัติออกหมายจับ ป.วิ.อาญา 6 หมาย จับกุม 1 ราย หลบหนี 5 ราย เหตุเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายปิดล้อมรีสอร์ทของเอกชนในพื้นที่ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีและเกิดการยิงปะทะคนร้ายเสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่าผู้ดูแลรีสอร์ท มีส่วนรู้เห็นและให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามาพักหลบซ่อนในรีสอร์ท จึงได้มีการขยายผลดำเนินคดี ต่อมาศาลจังหวัดปัตตานีออกหมายจับผู้ดูแลรีสอร์ทและจับกุมตัวได้แล้ว คดีอยู่ระหว่างฝากขัง เหตุเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบ้านชะเมาสามต้น ตำบลเตราะบอนและบริเวณป่าสาคูตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 5 – 10 กรกฎาคม 2564

          จากการบังคับใช้กฎหมายคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ทำให้คนร้ายเสียชีวิต จำนวน 4 ราย ตรวจสอบประวัติพบว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อยู่ระหว่างหลบหนีโดยมีหมาย ป.วิ.อาญา รวมกัน 10 หมาย และสามารถตรวจยึดอาวุธปืน จำนวน 6 กระบอก ผลการตรวจพิสูจน์ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ พบสารพันธุกรรม (DNA) จากบริเวณที่เกิดเหตุบ้านชะเมาสามต้น ภายในสถาบันปอเนาะที่คนร้ายวิ่งหลบหนีเข้าไปบ้านที่พบระเบิด และจากฐานปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีทางเดินเชื่อมกับบ้านในสถาบันปอเนาะจำนวน 17 โปรไฟล์โดย DNA ที่พบมีความเชื่อมโยงกับสถานที่ดังกล่าวข้างต้น พิสูจน์ทราบรู้ตัวบุคคล จำนวน 12 โปรไฟล์ พบว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง มีประวัติเคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่ 7 ราย ผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม(DNA) (จากบริเวณป่าสาคู) พบสารพันธุกรรม DNA จำนวน 7 ไปรไฟล์ ระบุตัวบุคคล จำนวน 4 โปรไฟล์ พบว่าเป็นของผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ผลการตรวจพิสูจน์เหล็กเส้นสะเก็ดระเบิด (Toolmark) พบว่าถูกตัดมาจากเครื่องเดียวกันกับคดีคนร้ายขว้างระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลาในห้วงเดือนเมษายน 2564 ขณะนี้พนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานขยายผลหาความเชื่อมโยงของพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุรุนแรงที่หลบหนี

          นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงแนวทางและวิธีการจัดการศพมุสลิมที่เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ตามประกาศของจุฬาราชมนตรี ว่าศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะถูกบรรจุใส่ถุงบรรจุศพและผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอกถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน ห้ามเปิดถุงบรรจุศพ เนื่องจากการเปิดถุงบรรจุศพจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ตาย กรณีการเสียชีวิตที่บ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือในพื้นที่อื่นที่อาจสงสัยว่าจะเสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 จะต้องแจ้งให้โรงพยาบาลมารับศพไปตรวจชันสูตร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้ทำตะยัมมุมบนถุงบรรจุศพ โดยให้ผู้ทำหน้าที่ตะยัมมุมสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันเต็มชุด และให้ถือเอาถุงบรรจุศพเป็นผ้ากะฝั่น หากการจัดการศพผู้เสียชีวิตไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมุสลิม หรือมี แต่มีจำนวนจำกัด หรือมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน ขอให้ทางโรงพยาบาลหารือญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อติดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรืออิหม่ามในพื้นที่ของผู้เสียชีวิต เพื่อให้ทำตะยัมมุมบนถุงบรรจุศพ หรือหากไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้รับศพไปจัดการละหมาดและฝังได้ทันที โดยไม่ต้องทำตะยัมมุมบนถุงบรรจุศพแต่อย่างใด และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ในกรณีบรรจุถุงบรรจุศพในโลง ให้จัดศพผู้เสียชีวิตในท่านอนตะแคงขวา พร้อมทำเครื่องหมายบอกด้านศรีษะและด้านเท้าให้ชัดเจนและดำเนินการฝังศพผู้เสียชีวิตที่บรรจุในถุงบรรจุศพในท่านอนตะแคงขวาหันหน้าไปทางกิบลัต (ทิศตะวันตก) กรณีที่ศพถูกบรรจุมาในถุงบรรจุศพ โดยไม่มีการอาบน้ำศพ และไม่มีการตะยัมมุม และไม่ได้นอนตะแคงขวา โดยไม่สามารถเปิดโลงศพเพื่อดำเนินการใดๆ ได้ ให้ละหมาดแก่ศพและฝังศพไปตามสภาพนั้น ให้เฉพาะญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิตเท่านั้นละหมาดที่สุสาน(กุโบร์) โดยให้ผู้ร่วมละหมาดป้องกันตนเองโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร และให้รีบฝังศพทันที หากจังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้โรงพยาบาลหรือญาติของผู้เสียชีวิต ติดต่อไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 02-9494278, 02-9494312 – 3, 09-45535655, 087-9129071 และ 089 – 7909103 เพื่อจะได้ประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

          ทั้งนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสาร ในอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกราย มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่ กสทช.ทราบและให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที ทั้งนี้ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าข้อความที่โพสต์เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ความคิดเห็น